วันเสาร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2558

ประวัติของกระบี่กระบอง

         การเล่นกระบี่กระบองเป็นพื้นฐานเบื้องต้นส่วนหนึ่งของศิลปะการต่อสู้ของไทยที่เรียกว่า กระบี่กระบอง การเล่นกระบี่กระบองเป็นกีฬาที่บรรพบุรุษไทยนำเอาศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวด้วยอาวุธที่ใช้สู้รบกันในสมัยโบราณ มาฝึกซ้อมและเล่นในยามสงบ โดยนำหวายมาทำเป็นกระบี่ ดาบ ง้าว ฯลฯ เอาหนังมาทำโล่ เขน ดั้ง ฯลฯ แล้วจัดมาตีต่อสู้กันเล่นหรือแข่งขันกันเป็นคู่ๆ ดุจสู้กันในสนามรบเป็นการฝึกหัดรุกและรับไปในตัว



         การเล่นกระบี่กระบองเริ่มในสมัยใด ใครเป็นผู้คิดขึ้นไม่สามารถหาหลักฐานได้ เนื่องจากได้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน แต่เนื่องด้วยไทยเราเป็นชาตินักรบมาแต่โบราณ กระบี่กระบองซึ่งเป็นกีฬาของนักรบจึงน่าจะได้มีการเล่นกันมาเป็นเวลาช้านานควบคู่กับชนชาติไทย ในสมัยรัตนโกสินทร์มีหลักฐานที่พออ้างอิงได้คือ  วรรณคดี ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 2 ในพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา กล่าวถึงอิเหนาชำนาญในการกระบี่ 

         -  ในรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณี กล่าวถึงศรีสุวรรณเล่าเรื่องกระบี่กระบองกับอาจารย์ทิศาปาโมกข์

          -  ในรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดปรานกระบี่กระบองมาก ทรงโปรดให้พระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ทรงหัดกระบี่กระบองจนครบวงจร และโปรดให้เล่นกระบี่กระบองเป็นการสมโภชที่หน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เนื่องในการทรงผนวชเป็นสามเณรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อใน พ.ศ. 2409

           -  ในรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้มีการเล่นกระบี่กระบอง และชกมวยไทยหน้าพระที่นั่งในงานสมโภชอยู่เนืองๆ กระบี่กระบองมีกันดาษดื่นและมากคณะ 

          -  ในรัชกาลที่ 6 ความครึกครื้นในการเล่นกระบี่กระบองลดน้อยลง เพราะไม่ทรงโปรดเท่ารัชกาลที่

          -  ในรัชกาลที่ 7 กระบี่กระบองค่อยๆ หมดไปจนเกือบหาดูไม่ได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงประเทศให้ทันกับความเจริญก้าวหน้าของโลกอุตสาหกรรม ทำให้ประชาชนทั่วไปมุ่งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคมมากขึ้น


          ต่อมา อาจารย์นาค เทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้เป็นผู้นำวิชากระบี่กระบองบรรจุไว้ในหลักสูตรประโยค ผู้สอนพลศึกษา ในปีพ.ศ.2479 และเป็นผู้ที่สมควรได้รับการยกย่องในฐานะผู้อนุรักษ์ฟื้นฟูและถ่ายทอดศิลปะการต่อสู้ประเภทนี้  ในปี พ.ศ.2518 ได้มีการจัดให้วิชากระบี่กระบองเป็นวิชาบังคับในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและในปี พ.ศ.2521 เป็นวิชาบังคับในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จึงยังคงมีการเรียนการสอนอยู่ทุกวันนี้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น